ประวัติของหลวงพ่อทองคำ

พระพุทธรูปทองคำ

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

     ประวัติ พระพุทธรูปทองคำ ที่ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นนี้ พระคุณเจ้า เจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี (ไสว ฐิตวีโร) ป.ธ.๗ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าช่วยเขียนขึ้นสำหรับแจกเป็นอภินันทนาการ แก่ผู้มาร่วมงานสมโภชฉลองในวันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๙ (ข้าพเจ้าในที่นี้หมายถึง คุณ ฉันทิชย์ กระแสสินธ์)

     ข้าพเจ้าควรแจังไว้ด้วยว่า เพราะเหตุใดข้าพเจ้าจึงได้รับเขียนประวัติพระพุทธรูปทององค์นี้ เรื่องนี้มีปฐมเหตุจาก สหายรัก ของข้าพเจ้าผู้หนึ่งไปหาข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ประมาณ ๑๒.๓๐ นาฬิกา แล้วแจ้งกับข้าพเจ้าว่า เกิดพุทธปาฎิหารย์ขึ้นที่วัดไตรมิตรวิทยาราม พระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่งปูนกะเทาะออกเป็นทองงามอร่ามทั้งองค์ ขอให้ข้าพเจ้าไปบูชาและตรวจดูพุทธลักษณะ
ด้วยว่าเป็นพุทธรูปสมัยใด ข้าพเจ้าตอบว่าไม่มีความรู้ความชำนาญในทางพุทธศิลปหรือพุทธลักษณะสมัยต่าง ๆ เลย หรือแม้จะรู้อยู่บ้างก็น้อยเกินไป จนเกือบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แต่สหายของข้าพเจ้า
ไม่ยอมฟังเสียงขอให้ข้าพเจ้าไปกราบบูชาให้ได้ และได้ขอให้เขียนประวัติพระพุทธรูปทององค์นี้ด้วย

     สหายของข้าพเจ้า ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงกับข้าพเจ้าว่า ความจริงการเขียนประวัติพระพุทธรูปองค์นี้ คุณกำธร วิสุทธิผล ขอให้เขาเป็นผู้เขียน แต่เขาแจ้งกับคุณกำธร ว่าไม่มีความชำนาญในเรื่องพุทธลักษณะ และไม่สามารถจะเขียนตามคำขอได้ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งสามารถเขียนได้และเพื่อนคนนั้นคือข้าพเจ้า

     ไม่ทราบว่ามีอำนาจลี้ลับอย่างใด บังคับข้าพเจ้าให้รับปากกับสหายของข้าพเจ้าว่าจะเขียนประวัติให้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้พบเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นเลยข้าพเจ้าขอผลัดกับสหายของข้าพเจ้าว่า
จะไปถึงวัดไตรมิตรวิทยารามเวลา ๑๙.๓๐ น. สำหรับตอนเที่ยงวันนี้ไม่สามารถจะไปได้ เพราะติดภารกิจบางประการ สหายของข้าพเจ้าตกลงตามที่ข้าพเจ้าผลัด พลางบอกกับชายอีกคนหนึ่ง
ที่มาด้วย ให้ไปบอกกับกุณกำธร วิสุทธิผล ว่าข้าพเจ้าตกลงจะเขียนประวัติและจะมากราบบูชาพระพุทธรูปทองตามเวลาที่กล้าวมาข้างต้น แล้วสหายของข้าพเจ้าก็ลาข้าพเจ้ากลับ

     คืนนั้น ข้าพเจ้าไปถึงวัดไตรมิตรวิทยาราม เวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกาพอดี ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักพระคุณเจ้าพระวีรธรรมมุนีมาก่อน จึงถามเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในลานวัดว่ากุฎิของท่านเจ้าคุณวีรธรรมมุนี
อยู่ใหน เมื่อเด็กชี้กุฎิให้แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้พบกับท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีที่กุฎิมุมพระอุโบสถทิศตะวันตก

     ข้าพเจ้ากราบ แล้วแนะนำตนเอง และกล่าวกับเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีถึงเรื่องที่สหายของข้าพเจ้า ขอให้มาใต่ถามถึงการพบพระพุทธรูปทอง และขอชมพระพุทธรูปองค์นั้นเพื่อตรวจดูพุทธลักษณะด้วย

     ขณะนั้น พระคุณเจ้า พระวีรธรรมมุนี กำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่บนอาสนะเมื่อทราบความประสงค์ของข้าพเจ้าเช่นนั้น จึงวางหนังสือและสนทนากับข้าพเจ้า

     จากการสนทนากับท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ทำให้ความเข้าใจของข้าพเจ้าแต่เดิมในเรื่องพระพุทธรูปทององค์นี้ผิดพลาดเป็นอันมาก ข้าพเจ้าเคยกล่าวกับสหายของข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปที่เอาปูนปั้นหุ้มไว้
มักเป็นพระพุทธรูปที่ชำรุดเป็นส่วนมาก แล้วยกตัวอย่างพระหล่อสัมฤทธ์ ปางต่าง ๆ ที่ประดิษฐานในวิหารคตวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปชำรุด ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญจากวัดเก่า วัดร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกทำลาย เลือกเอาแต่องค์ที่มีพุทธลักษณะงดงามมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ แต่โดยที่พระพุทธรูปดังกล่าวส่วนมากชำรุด จึงโปรดเกล้าฯ
ให้ช่างปั้นเอาปูนปั้นหุ้มไว้ทุกองค์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๖ คราวปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ สืบมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๗ ปูนที่ปั้นพอกไว้เก่าหมดยางกะเทาะออกจากองค์ ซึ่งบัดนี้ก็ยังมีผู้มีศรัทธาอาสา
รับบูรณะให้คืนสภาพที่งดงามอยู่ ณ วัดพระเชตุพนฯ ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปที่วัดพระเชตุพนฯ แต่ข้าพเจ้าเข้าใจผิดสหายของข้าพเจ้าแจ้งกับข้าพเจ้าว่า เป็นพระ
พุทธรูปทองบริสุทธิ์ทั้งองค์ ไม่มีพิรุธตรงไหนเลย ข้าพเจ้าก็ยังเถียงสหายของข้าพเจ้า โดยไม่ทันเห็นว่า ขอให้ตรวจดูอย่างละเอียด พระพุทธรูปองค์นี้จะต้องชำรุด ถ้าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามบริสุทธิ์
ใครจะอุตริเอาปูนปั้นพอกไว้ เพื่ออะไร?

     แม้ขณะที่ข้าพเจ้าสนทนากับเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ข้าพเจ้าก็ยังได้กล่าวกันท่านเช่นข้างต้นท่านจึงนำข้าพเจ้าขึ้นไปบนวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองเพื่อให้ข้าพเจ้าเห็นเป็นประจักษ์ว่า
เป็นพระพุทธรูปบริสุทธิ์ทั้งองค์ ไม่มีพิรุธหรือบุบสลายแม้ในที่ใด ๆ

     ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า คืนนั้นวิหารกำลังสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อย ฝุ่นอิฐและกากปูนที่พื้นเต็มไปหมด มีนั่งร้านสำหรับฉาบน้ำปูนตั้งอยู่เกะกะ เมื่อท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีฉายไฟฟ้าไปที่องค์พระพุทธรูป
พอสายตาข้าพเจ้าได้เห็น ข้าพเจ้าสะดุ้งและเกิดปี่ติซาบซ่านไปทั้งร่าง เบื้องหน้าข้าพเจ้านั้น พระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นทองทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี งามเหมือนมีชีวิต

     ข้าพเจ้าก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พลันจิตประวัติไปถึงถ้อยคำในศิลาจารึก หลักที่ ๑ ที่จารึกไว้เป็นความว่า:

          "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฐฐารสมีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม" ตามหลักศิลาจารึกที่ ๑

     ข้าพเจ้าอ่านศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ อ่านมาจนบัดนี้กว่าร้อยครั้ง ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีว่า "ใต้เท้าอย่าสงสัยเลยพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระพุทธรูปทองที่ศิลาจารึกกล่าวถึงแน่แล้ว"

     ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ่ตื่นเต้นด้วยความปีติ เมื่อได้ฟังข้าพเจ้ากล่าวท่านได้ถามข้าพเจ้าว่า "เจริญพร มีหลักฐานอย่างไร จึงได้ยืนยันเช่นนั้น?"

     ข้าพเจ้ากราบเรียนว่า "ลักษณะทั้งหมดของพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นฝีมือช่างสุโขทัยรุ่นกลาง ใต้เท้าเป็นผู้มีบุญ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประ
ดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ได้"

     ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี หัวเราอย่างภาคภูมิใจ "เจริญพรกล่าว ทำให้อาตมาภาพปีติเกิด อาตมาภาพก็เพิ่งทราบว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแต่ยังไม่มีหลักวิชาอันใดมาเป็นเครื่องประกอบพิจารณา
ถ้าเจริญพรจะอธิบายให้ทราบบ้างก็จะเป็นกุศล"

     ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีว่า "กรผมก็ไม่ทราบอะไรมากนักแต่จากการสังเกตในด้านพุทธปฎิมากรรม อันเป็นศิลปสมัยสุโขทัยแล้วพุทธปฎิมากรรมทุกองค์งดงามเหมือนมีชีวิต อ่อนลมุนละไม สง่า มีพุทธลักษณอันอุดมเหนือโลกียเปนือปุถุชน และเหนือคำบรรยาย พระพุทธปฎิมากรรมสมัยสุโขทัย สรรสร้างด้วยอุดมคติอันสูงสุด และมีมโนคติยึดเอาพระพุทธลักษณะเป็นหลัก จะพึงสังเกตได้จากพระพักตร์รูปไข่ มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง บนพระเศียรหนือพระอุณหิศเป็นรูปโป่ง แลพระเกตุมาลาเป็นเปลวยาวสูงยาว อันเป็นแบบอย่างศิลปของลังกา

พระทองคำโบกปูนทับอยู่

พระปูนปั้นก่อนรู้ว่าเป็นพระทองคำ

 

     ข้าพเจ้าเรียนกับท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีต่อไปว่า"พระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ตรงกับพุทธปฎิมากรรมศิลปของสุโขทัยทุกอย่าง ตั้งแต่ทับเกษตรถึงปลายพระเกตุมาลา ขอให้ใต้เท้าสังเกตุเส้นพระศก ขมวดเป็นทักขิณาวัฎ (ก้นหอย) ไม่มีไรพระศก พระโขนงโก่งงดงามเป็นสัน พระนาสิกค่อนข้างงุ้ม พระโอษฐ์เหมือนจะแย้มตรัส พระหนุเสี้ยม พระกรรณเป็นหมือนกลีบบัวและยาว ปลายพระกรรณเจาะเปมือนชาวสุโขทัยยุคพ่อขุนรามคำแหง พระศอเป็นปล้องต้องตามพุทธลักษณะพรอุระผายเหมือนราชสีห์ พระอังสากว้างได้ส่วน พระกรยาว และลักษณะวางพระกรเหมือนงวงช้าง ปลายนิ้วพระหัตถ์เหมือนอย่างวิสามัญมนุษย์ ไม่ยาวเสมอกันเหมือนการสร้างในยุคหลัง หัวพระถันโปนขึ้นมาเห็นชัด อีกประการหนึ่งพึงสังเกตชายสังฆาฎิยาวถึงพระ
นาภี ปลายสังฆาฎิพับทับกันมีลักษณอย่างเขึ้ยวตะขาบทั้งเบื้องหน้าพระนาภีและเบื้องพระปฤษฏางค์แลชายผ้าสังฆาฎิ
เบื้องพระปฤษฏางค์ยาวลงมาเกีอบถึงทับเกษตร นั่งขัตสมาธิราบ เห็นฝ่าพระบาทราบเรียบเสมอกัน อันเป็นลักษณของคนที่ไม่มีราคะ จะเห็นชายอันตรวาสกเป็นสัน ฐานที่เป้นทับเกษตรเป็นหน้ากระดานเกลี้ยงไม่นิยมเป้นบัวหงายบัวคว่ำตรงกลางของฐานจะเว้าหรือแอ่นเข้าไปข้างใน"

พระวิสุทธาธิบดี

พระวิสุทธาธิบดี อดีตพระวีรธรรมมุนี องค์พบพระพุทธรูปทองคำ

 

     ท่านเจ้าคุณพรวีรธรรมมุนี ฟังข้าพเจ้าอธิบายพุทธปฎิมากรสมัยสุโขทัยด้วยความสนใจ และได้ตรวจลักษณะของพระพุทธรูปองค์ที่ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าด้วยความพินิจพิเคราะห์ ข้าพเจ้าจึงกล่าวต่อไปว่า
"ขอให้เท้ากรุณาสังเกตุฐานพระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นเช่นอธิบายมา คือไม่มีบัวคว่ำบัวหงายการทำฐานบัวคว่ำบัวหงายเพิ่งมีในสุโขทัยยุคปลาย คือยุคพระเจ้าลิไท
ที่ทรงหล่อพระพุทธชินราช เป็นต้น รูปพระพักตร์ของพระพุทธรูปทององค์นี้ เหมือนพระพักตร์พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ที่พระปฐมเจดีย์ และพระสุรภีพุทธพิมพ์ที่วัดปรินายก ตลอดจนเหมือนรูปพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่ประดิษฐานไว้ที่พิพิธพัณฑ์สถานแห่งชาติ"

     ข้าพเจ้าชี้ไปที่จีวรของพระพุทธรูปทอง พลางเรียนท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีว่า "ขอให้ใต้เท้าสังเกตุจีวรที่ทรง นายช่างปฎิมากรรมสมัยสุโขทัยชอบทำเป็นรูปจึวรบาง ๆ แนบเนื้อ
หรือแนบพระองค์ลักษณะจีวรจะเห็นเป็นเส้นก็พอสังเกตรู้เท่านั้นลักษณปรทับนั่งเป็นการวางพระอริยาบถ
อย่างก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ เหมือนกับพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับจริง ๆ พระองค์นี้ เป็นพระปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายพาดเหนือพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงชี้แม่พระธรณีเพื่อเป็นพยาน แม้จะเป็นพระพุทธลักษณะประทับนั่งเหนือวชิรอาสน์ แต่ก็ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวได้ พระพุทธรูปองค์นี้เหมือนกับจะทรงแย้มพระโอษฐ์กับผู้เข้าไปกราบนมัสการ ขอให้ใต้เท้าพินิจดูจะเห็นเช่นที่กระผมกล่าวนี้ท่เดียว"

     ท่านเจ้ารุณพระวีรธรรมมุนี ฟังข้าพเจ้าพูดอย่างสนใจ เมื่อข้าพเจ้าได้พูดจบลงแล้ว ก็พอดีเหลือบไปพบสหายของข้าพเจ้ากับคุณกำธร วิสุทธิผลกำลังฟังอย่างเงียบ ๆ อยู่ข้างหลัง
ข้าพเจ้ากล่าวกับสหายข้าพเจ้าว่า "แก้วเกิดขึ้นในวัดไตรมิตรวิทยารามแล้ว นี่คือพระพุทธรูปทองสมัยสุโขทัยผมขอบพระคุณที่ไปบอกให้ผมมาบูชา"

     ขณะที่เราทั้งหมดกำลังชมพระพุทธรูปทองอยู่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นพระเกตุมาลาไม่มี แล้วยังไม่ได้ถามว่าพระเกตุมาลาไปอยู่ที่ไหน ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีได้กล่าวขึ้นว่า
"ไปที่กุฎิอาตมาภาพ จะให้ดูพระเกตุมาลา"

     เราทั้งหมดพากันก้มลงกราบพระพุทธรูปทอง แล้วพากันลงจากวิหารมายังกุฎิท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ได้เชิญพานแว่นฟ้าออกมา บนพานแว่นฟ้านั้นมีพระเกตุมาลาวางอยู่

     ข้าพเจ้าพิเคราะห์เห็นเป็นพระเกตุมาลาชนิดที่เป็นแบบอย่างของลังกาอย่างมิต้องสงสัย คือ เป็นเปลวรัศมียาว เกลียวรัศมีอ่านเป็นอักขระ หรือเป็นรูปอุณาโลมชัดเจน และข้าพเจ้าเว้นที่
จะกล่าวไม่ได้เลยว่า พระพุทธรูปทองก็ดี พระเกตุมาลาที่ได้เห็นก็ดี ทองที่หล่อขึ้นนั้นเป็นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขาชนิดที่ประมาณค่ามิได้เลย

     เราบรรดาที่นั่งอยู่ในกุฎิต่างพากันปลาบปลื้มที่ได้มาเห็นพระพุทธรูปทององค์นี้ และได้มากราบไหว้บูชา ข้าพเจ้าเป็นผู้กล่าวขึ้นว่า "ใครจะเข้าใจอย่างใดก็ตามเถิดพระพุทธรูปองค์นี้ ผู้สร้างต้องเป็นพระมหากษัตริย์เป็นแน่ ไม่ใช่คนสามัญ คนสามัญจะสร้างพระพุทธรูปทองค่าควรเมืองอันทรงสมบูรณ์ด้วยพุทธศิลปเช่นนี้ไม่ได้เป็นอันขาด"

     ทุกคนที่นั่งอยู่ในกุฎิเห็นพ้องกับข้าพเจ้า ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีให้ข้อสังเกตว่า "การหล่อหรือสร้างพรพุทธรูปองค์นี้ เป็นงานสำหรับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์เป็นแน่ มิเช่นนั้น จะสมบูรณ์ด้วยปฎิมากรรมศิลปกรรมเช่นนี้ไม่ได้ อาตมาภาพฟังคุณฉันทิชย์อิบายทำให้ภาคภูมิใจว่าเป็นบุญเหลือเกินที่ได้พระพุทธรูปองค์นี้มา"

     ข้าพเจ้าได้ขอร้องท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ให้เล่าถึงการได้พระพุทธรูปทององค์นี้มายังวัดไตรมิตรวิทยารามให้ฟัง เพื่อเก็บเป็นประวัติไม่ให้สูญหายท่านเจ้าคุณพรวีรธรรมมุนีได้เล่าให้ฟัง
ซึ่งข้พเจ้าได้เรียบเรียงไว้พอเป็นเค้าความย่อ ๆ ดังนี้:

วัดไตรมิตรวิทยาราม

วัดไตรมิตรวิทยาราม

เหตุที่พระพุทธรูปทองคำอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ถ้าบุคคลทั้งหลายที่ยังจำภาพวัดไตรมิตรวิทยารามได้ จะเห็นว่าที่หน้าพระเจดีย์ข้างโบสถ์นั้นปลูกเพิงสังกะสีไว้ ใต้เพิงนั้นมีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่
พระปูนปั้นองค์นี้คณะกรรมการวัดสามจีนมีพระมหาเจียม กมโล (บัดนี้ได้ลาสิกขาไปแล้ว) พระมหาไสว ฐิตวีโร (คือเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ในสมัยนั้น) น.อ. หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชบาศัย) ร.น. หลวงบริบาลเวชกิจ(ยู้ ลวางกูล) นายสนิท เทวินทรภักดี ได้อัญเชิญมาจากวัด พระยาไกรโชตินาราม

     ปฐมเหตุ ที่ได้อัญเชิญพระปูนปั้นองค์นี้มาจากวัดพระยาไกร เนื่องจาก สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่างสมเด็จพระวันรัต(ปลด กิตติโสภโณ องค์สังฆนายก) มีเถระบัญชา
ให้คณกรรมการวัดสามจีนไปอัญเชิญมา ทั้งนี้เพราะวัดพระยาไกรเป็นวัดร้าง บริษัทอิสเอเซียติ๊กเช่าที่ของวัดเป็นโรงเลื่อยจักร วัดพระยาไกรเป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฎ
มาเริ่มร้างเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ มีพระอุโบสถวิหารพังลงส่วนมากจนเกือบไม่มีอะไรเหลือให้เห็นว่าเป็นวัด เท่าที่พอสังเกตว่าเป้นวัดพระยาไกรเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ก็คือ
มีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้กับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์อีก ๑ องค์ ซึ่งนำไปประดิษฐานที่วัดไผ่เงินโชตินาราม ประดิษฐานอยู่ นอกนั้นเหลือพระวิหารสูงใหญ่ เพิ่งรื้อเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๐ เมื่อทางบริษัท
อีสเอเซียติ๊กยื่นหนังสือขอเช่า และได้รับอนุมัติจากทางราชการนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) จึงบัญชาให้คณะกรรมการวัดสามจีนไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้ยัง
วัดไตรมิตรวิทยาราม (สมัยนั้นยังเรียกว่าวัดสามจีน) ในฐานะวัดไตรมิตรวิทยารามเป็นวัดใต้ปกครองของเจ้าคณะปกครองของเจ้าคณะปกครองแขวงล่างเมื่อคณะกรรมการวัดสามจีน
อัญเชิญมานั้น นำมาได้อย่างเรียบร้อยและสะดวกทุกประการ คือบริษัทอิสเอเซียติ๊กได้จัดรถบรรทุกชนิดใหญ่ให้ ๑ คัน แล้วอัญเชิญขึ้นปรทับบนรถคันนั้น
มาตามทางถ้าผ่านสายโทรศัพท์หรือสายไฟฟ้ารถรางก็ต้องเอาไม้ค้ำให้สูง เพื่อพ้นพระเกตูมาลาเป็นครั้งคราว มาตลอดปลอดโปร่ง ไม่มีอุปสรรคอะไร จนถึงวัดไตรมิตรวิทยาราม
การอัญเชิญลงจากรถก็สดวกไม่คาดว่าพรพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างถึง ๑๖ ศอก เช่นนี้ จะนำลงได้สะดวกโดยปราศจากการกระทบกระแทก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย
แล้วทุกประการ คณกรรมการวัดสามจีนเห็นว่าขณะนั้น โบสถ์ วิหาร ก็ยังไม่เหมาะที่จะนำเข้าไปปรดิษฐานเพราะเก่าแก่จะพังมิพังแหล่ จึงอัญเชิญให้ประดิษฐานอยู่ข้างพระเจดีย์ไป
พลางก่อน แล้วปลูกเพิงสังกะสีกันแดดกันฝนถวาย เช่นกล่าวมาข้างต้น

     จำเนียรกาลสืบมา เมื่อได้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดสามจีน และได้เปลี่ยนนามเป็น วัดไตรมิตรวิทยาราม เสร็จแล้ว ก็ได้มีผู้มาขอพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ไปเป็นพระประธานหลายราย ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีก็ให้แก่ผู้ขอ เพราะเห็นว่าพระประธานของวัดไตรมิตรวิทยารามก็มีอยู่แล้ว สมควรให้ไปเป็นพระประธานที่วัดอื่น จะได้เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
และปรกาศความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาสืบไปในอนาคต แต่ทุกรายที่มาขอไม่สามารถนำพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ไปได้เลยสักรายเดียว บางรายขัดข้องด้วยขาดแคลนพาหนที่จนำไป
บางรายพร้อมที่จะนำไปแต่เมื่อนำขนาดกว้างและสูงขององค์พระไปวัดกับความสูงของสะพานรถไฟดูแล้วก็เห็นว่าขัดข้องนำไปไม่ได้ เพราะพระเกตุมาลาสูงกว่าสะพานรถไฟ มีผู้หนึ่งมาขอเป็นรายสุดท้าย
จะนำไปปรดิษฐานเป็นพรประธานที่วัดบ้านบึง จังหวัดชลบุรี รายนี้เจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีก็ให้อีก แต่เมื่อมาดูแล้วผู้ขอกลับใจไม่รับเอาไป แจ้งแก่เจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีว่าไม่งาม ไม่สมกับเป็นพระประธาน

พระปูนปั้นก่อนรู้ว่าเป็นทองคำ+

พระปูนปั้นก่อนจะรู้ว่าเป็นพระทองคำ

 

     สืบมาเมื่อท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีได้สร้างโบสถ์ และวิหารเสร็จแล้วพิจารณเห็นว่าหลวงพ่อปูนปั้นองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่เพิงข้างพระเจดีย์มานานหนักหนานับได้ ๒๐ ปีแล้ว
สมควรแล้วจะอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนวิหารให้สมศักดิ์ศรี และดีกว่าจะให้ประดิษฐานอยู่ข้างพระเจดีย์ จึงปรึกษากับคุณกำธรวิสุทธิผล ซึ่งเป็นผู้อุปการะวัดไตรมิตรวิทยารา
มาตั้งแต่แรกกับนายสม พ่วงภักดี (เปรียญ) บุคคลทั้งสองเห็นพ้องด้วย กำหนดจอัญเชิญจากเพิงข้างเจดีย์ขึ้นประทับประดิษฐานบนวิหาร ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘

     ครั้นวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มาถึง ท่านเจ้าคุณพรวีรธรรมมุนี พร้อมกับคุณ กำธร วิสุทธิผล นายสม พ่วงภักดี (เปรียญ) นายสวัสดิ์ เดชพ่วง ได้นำนายช่างและคนงานมาช่วยกัน
ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อปูนปั้น จากเพิงขึ้นไปปรดิษฐานบนวิหาร เมื่อท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ได้จุดธูปเทียนบูชาและอัญเชิญ ตลอดจนได้ปรารภถึงความจำเป็นที่ขออัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนวิหาร
เมื่อท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนี ได้จุดธูปเทียนบูชา

วิหารหลังเดิม

วิหารหลังเดิมที่ประดิษฐานพระปูนปั้น

และอัญเชิญ ตลอดจนได้ปรารภถึงความจำเป็นที่ขออัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนวิหารแล้วก็ว่าครั้งนี้อาจต้องล่วงเกินหลวงพ่อบ้าง เพราะเป็นของใหญ่ของหนัก อาจจะล่วงเกินในสิ่งที่ไม่ควร
จึงต้องขออภัยโทษไว้ด้วย เมื่อบอกกล่าวเสร็จแล้ว นายช่างได้ใช้เชือกโอบรอบองค์พระ และสอดใต้ฐานทับเกษตรรวบเชือกเป็นสาแหรกขึ้นไปเบื้องพระเศียรติดรอก
และขอสำหรับกว้าน เริ่มจัดการทำตั้งแต่ฉันเพลแล้ว จนกระทั่งพลบ ก็ไม่สามารถจะนำขึ้นประดิษฐานบนวิหารได้ และครั้งสุดท้ายที่ได้พยายามยกอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งนี้ยกได้สูงสัก ๑ ฝ่ามือ แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ ขอที่เกี่ยวลวดยกองค์หลวงพ่อได้ถูกสลัดหลุดออกเหมือนคนมาดึงเป็นเหตุให้องค์หลวงพ่อปูนปั้นกรแทกลงมายังพื้นดินดังสนั่นและวันนั้นบัง
เอิญมีพายุฝนพัด และมีอสุนีบาตคะนอง ครั้นแล้วฝนได้ตกลงมาอย่างหนักประจวบกับเป็นเวลามืดค่ำแล้ว เจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีจึงบอกเลิกและนัดกันว่า พรุ่งนี้ให้มาช่วยกันใหม่ เจ้าคุณพระวีรธรรมมุนได้เดินกรำฝนกับกุฎิ และคึนนั้นฝนได้ตกตลอดคืน

          ในคืนวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ นั้นเอง ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีนิมิตรว่า มีกุลสตรีทรงศักดิ์สูงอายุท่านหนึ่งมาหาท่านกุลสตรีทรงศักดิ์ในความฝัน
ผู้นั้นหาใช่สตรีอย่างสมัยปัจจุบันไม่ เป็นกุลสตรีทรงศักดิ์สูงอายุ โดยสังเกตได้จากการแต่งร่างและเรือนผมไว้ผมทรงกระโดง แต่งร่างอย่างนางกษัตริย์
ประดังอาภรณ์อย่างรูปเขียนสมัยสุโขทัย กุลสตรีผู้นั้นประคองพานเดินขึ้นมาบนกุฎิ พลางกล่าวกับท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีว่า ขอถวายสังวาลแก่ท่านเจ้าคุณ ๑ สาย
เจ้าคุณเห็นเป็นสังวาลเพชรวางอยู่บนพานก็กล่าวปฎิเสธว่า"ของสิ่งนี้อาตมาภาพรับไว้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของสำหรับสมณะ โยมมอบแก่ลูกหลานของโยมไว้ใช้เถิด"
กุลสตรีทรงศักดิ์ผู้นั้นแจ้งแก่ท่านว่า "ได้ตัดสินใจแล้วจะถวายแก่ท่านเจ้าคุณ ขอให้ท่านเจ้าคุณรับไว้ด้วย สังวาลนี้เป็นของดีและมีค่ามาก " พูดแล้วก็ลาท่านไป ในฝันนั้น
ท่านเจ้าคุณได้พยายามเรียกให้กลับมารับคืนไป แต่ไม่สำเร็จ กุลสตรีทรงศักดิ์สูงอายุผู้นั้นได้ลับกายหายไปเสียแล้ว

     ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีสะดุ้งตื่น รู้สึกว่าเป็นเวลาใกล้จะรุ่ง ฝนที่ตกมาตลอดคืนเพิ่งจะขาดเม็ด เมื่อเสร็จสรีระกิจแล้วความที่เป็นห่วงในการอัญเชิญหลวงพ่อ
ปูนปั้นขึ้นประดิษฐานบนวิหาร ท่านได้เดินฝ่าละอองฝนมาที่หลวงพ่อปูนปั้นเพื่อหาทางจะอัญเชิญขึ้นประดิษฐานให้สะดวกและเรียบร้อย เมื่อเดินมาถึงที่เพิง
ข้างองค์พระปูนปั้นทันใดนั้นท่านสะดุ้งสุดตัวเพราะสายตาให้เห็นปูนตรงพระอุระหลวงพ่อแตกกะเทาะลงมากองอยู่ทีพื้นดินเห็นรักปิดทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง
เมื่อแกะรักออกก็เห็นทองตรงพระอุระของหลวงพ่อเป็นประกายอร่ามจับตา

     ข้าพเจ้าแทบไม่หายใจด้วยเหตุที่กลั้นความตื่นเต้นพิศวงมานาน เมื่อท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีเล่าจบลงแล้ว ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านเป็นความว่าแล้วใต้เท้านำขึ้นมาประดิษฐานบนวิหารนี้ได้อย่างไร?
ในเมื่อท่านมีน้ำหนักมากมายเช่นนี้ และได้ถ่ายรูปพระปูนปั้นไว้ด้วยหรือเปล่า?

     ท่านเจ้าคุณวีรธรรมมุนีปรารภแสดงความเสียดายที่ไม่ทันได้คิดถึงเรื่องถ่ายภาพ ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อเห็นเป็นพระพุทธรูปทองอยู่ข้างใน ก็ได้มาบอกกล่าวพระภิกษุสามเณรและช่าง
ให้ช่วยกันกะเทาะปูนที่ปั้นหุ้มไว้เป็นการใหญ่ ต่อเมื่อกะเทาะมาถึงพระศอจึงนึกขึ้นได้ว่าควรจะถ่ายภาพไว้า กว่าจะออกยากมาก เพราะปั้นไว้หนา และปูนผสานกับเนื้อรักที่ปิดองค์พระแนบสนิทมาก
ต้องพยายามแกอย่างบรรจงที่สุดทั้งในใจก็คิดว่า หรือที่พระพักตร์จะไม่บริสุทธิ์ จึงได้ปั้นปูนหุ้มไว้ แต่เมื่อกะเทาะออกโดยเรียบร้อยแล้วก็เห็นเช่นที่ปรากฎ คือบริสุทธิ์ทั้งองค์

     ข้าพเจ้าขนลุกซู่ทั้งกาย ดวยใจประวัติไปถึง "พระพุทธรูปทอง" ในศิลาจารึกอีกองค์นี้ใช่หรือไม่หนอ? ที่หายไปจากวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย หาไม่พบมาตั้งหลายร้อยปี? ท่านเจ้าคุณวีรธรรมมุนีได้เล่าต่อไปว่า
เมื่อเห็นเป็นพระพุทธรูปทองทั้งองค์เช่นนี้ก็บังเกิดความมีศรัทธาแก่กล้าไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยทั้งดีใจและใจหายเมื่อคิดไปถึงการที่บอกให้หลวงพ่อแก่บุคคลผู้มีชื่อทั้งหลายเดชะบุญที่พระพุทธรูปทอง
จะไม่ไปตกอยู่ประจันตประเทศนอกพระมหานครบังเอิญให้มีเหตุสุดวิสัยขัดขวางเสีย บัดนี้นับว่าท่านแสดงปาฎิหาริย์ที่จะประทับประดิษฐาน ณ วัดไตรมิตรวิทยารามอย่างเด็ดขาดแล้ว

     ท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีเล่าว่า เพื่อให้น้ำหนักในการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนวิหาร ลดน้อยลง ท่านได้คุ้ยเอาดินใต้ฐานทับเกษตรออก ก็ได้พบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นตอน ๆ ได้ ๙ แท่ง
เพื่อสะดวกในการถอดอัญเชิญขึ้นประดิษฐานได้โดยสะดวก จึงได้ถอดออกแต่เพียง ๔ ส่วนคือ ส่วนพระศอ พระหัตถ์ ๒ ข้าง และพระนาภีอีก ๕ ส่วนที่เหลือไม่ได้ถอดออกประสงค์รักษาไว้ให้คน
ทั้งหลายได้ชมฝีมือช่างเอก กุญแจเหล่านี้ท่านผู้หล่อตั้งเดิมได้ใส่ทองคำสำรองมาให้ครบถ้วนรวมทั้งมุกที่ใส่พระเนตรก็ใส่มาให้ ดูเหมือนกับว่ามีญาณหยั่งรู้ว่าในอนาคตจะมีผู้มาถอดองค์พระเพื่อ
บูรณะปฎิสังขรณ์นั้นทีเดียว

พระทองคำ

พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร (หลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตร)

     เมื่อได้ชมพระพุทธรูปทองแล้วท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีได้ขอให้ข้าพเจ้าช่วยเรียบเรียงที่มาของ พระพุทธรูปทอง และขอให้ช่วยค้นหาประวัติของพระพุทธรูปทององค์นี้ จากพุทธลักษณะที่ข้าพเจ้า
มาพบเห็นอันจะเป็นต้นเหตุให้พึงอนุมานได้ ข้าพเจ้ารับปากกับท่านเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีว่าจพยายามเท่าที่จะสามารถทำได้ และจพยายามให้ทันพิมพ์แจกในงานสมโภชพระพุทธรูปทอง
ในวันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๑๔๙๙ นั้นด้วย คืนนั้น ข้าพเจ้าได้นมัสการเจ้าคุณพระวีรธรรมมุนีเมื่อ ๒๑.๓๐ นาฬิกา

     การค้นหาประวัติพระพุทธรูปทอง เป็นเรื่องยากยิ่งยวด เพราะไม่ปรากฎว่ามีหลักฐานเหลืออยู่ที่แห่งใดเลย นอกจากองค์พระพุทธรูปทองที่เป็นปฎิมากรรมในสมัยสุโขทัยรุ่นกลางเพียงประการเดียวเท่านั้น
แต่สิ่งที่ยังทำให้ข้าพเจ้ามีหวังอยู่เป็นอันมากในการค้นคว้าอีกประการหนึ่งนั้น หาใช่พุทธลัษณะที่กล่าวไม่ สิ่งนั้นคือ เนื้อทองที่หล่อพระ เป็นทองที่เรียกในภาษาพระราชพงศาวดารว่า "ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา"
นี่เป็นหลักที่ข้าพเจ้านำเอามาประกอบการค้นหาประวัติของพระพุทธรูปทององค์นี้ด้วย

     นอกจากนั้น ข้าพเจ้าได้พยายามหาข้อสังเกตุผลอีกหลายข้อ เพื่อเป็นแนวกรุยทางไปสู่จุดพิจารณาว่าเพราะเหตุใดพระพุทธรูปทององค์นี้จึงได้ถูก
อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่วัดโชติวนาราม (ราษฏรเรียกว่า วัดพระยาไกร ซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เจ้าสัวบุญมา) ข้าหลวงเดิมของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สร้างในรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นวัดหลวงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระยาไกรเมื่อไร? โดยพระบรมราชโองการหรือโดยพระบรมราชานุญาต?เพราะเหตุใดจึงปั้นปูนพอกปิดบังความงดงามของพระพุทธลักษณะ
ไว้อย่างน่าเสียดายจนเป็นเหตุให้พระพุทธรูปทององค์นี้ถูกหุ้มอยู่ไม่ต่ำกว่า๑๐๐ ปี หรือมากกว่านั้น?การหล่อพระพุทธรูปทองขนาดใหญ่เช่นนี้ใครควรเป็นผู้ดำเนินการหล่อ?
เอาทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขามาจากไหนมากมาย จนหล่อดเป็นองค์พระที่มีพระพุทธลักษณะงามหยดย้อยอย่างเหลือพรรณนา?

     เมื่อได้ตั้งประเด็นสำหรับเป็นแนวค้นคว้าหาหลักฐานไว้เช่นนี้แล้วข้าพเจ้าจึงพิจารณาหาเหตุผลตามแนวทางที่ตั้งไว้ดังต่อไปนี้:

๑. พุทธลักษณะของพระพุทธรูปสุโขทัย

           จากพระพุทธลักษณะที่เห็น ไม่มีข้อสงสัยว่าจะไม่เป็นพระพุทธรูปที่หล่อในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งเป็นพุทธลักษณะและพุทธศิลป ที่นายช่างปฏิมากรรมศิลปนฤมิตรขึ้นโดยฝีมืออันวิจิตบรรจง
สำเร็จเป็นรูปพุทธปฏิมากรที่งามอย่างอ่อนช้อยจนดูเหมือนมีชีวิต และมีค่าควรเมือง เมื่อได้พิจารณาสืบสวนถึงผู้อำนวยการสร้างพระพุทธรูป ก็เชื่อโดยไม่ต้องสงสัยว่า
พระพุทธรูปองค์นี้ องค์พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงสร้าง รัชสมัยที่สร้างนั้นก็น่าจะอยู่ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์องค์นี้ปรากฏตามประวัติศาสตร์ว่า
ครองราชย์ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๘๒๐ ถึงประมาณ พุทธศักราช ๑๘๖๐ รวมรัชกาลถึง ๔๐ ปี เป็นสมัยที่รุ่งโรจน์และบ้านเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ และทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภ์อย่างแท้จริง พระองค์คงจะได้
ทรงคิดแบบหล่อขึ้นโดยประชุมนักปราชญ์ช่วยกันคิด ประชาชนคนสามัญจะไม่มีใครสามารถหล่อพระพุทธรูปทองอย่างนี้สำเร็จได้เป็นอันขาด เพราะเป็นการเกินกำลังที่จะทำได้

๒. ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา

          ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น เราทราบจากจารึกและจดหมายเหตุของประเทศใกล้เคียงว่า การค้าขายรุ่งเรือง บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์"ใครใคร่ค้าช้างค้าใครใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า
ไพร่ฟ้าหน้าใส" ก็ด้วยเหตุนี้เอง "พระพุทธรูปทอง" จึงได้สร้างขึ้น แล้วตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง "พระอัฎฐารส" มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม
มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันงาม..." สมศักดิ์ศรีเมืองราชธานีของไทยแห่งแรกในสุวรรณภูมิทุกประการ

          น่าเสียดายหนักหนา เมื่อพุทธศักราช ๑๙๒๑ กรุงสุโขทัยถูกไทยกรุงศรีอยุธยา คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นไทยด้วยกันเองยกทัพขึ้นไปทำสงครามกับ พระมหาธรรมราชา(ไสยฤาไท)
ครั้งนั้นแสนยานุภาพของไทย กรุงศรีอยุธยาปานแผ่นดินจะถล่มทลาย "พระมหาธรรมราชา(ไสยฤาไท) เมืองพระพิษณุโลกออกมาถวายบังคม" ยอมเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา
ตั้งแต่นั้นมา กรุงสุโขทัยก็ร่วงโรยเพราะอยู่ในฐานะเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึง พุทธศักราช ๑๙๔๖ กรุงสุโขทัยก็เกิดการจราจลมีเรื่องอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า "ศักราช ๗๖๕ ปีมะแมเบญจศก มีข่าวมาว่าพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกเสด็จสวรรคต แลเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจราจล" กรุงสุโขทัยก็เริ่มดับรัศมี นับตั้งแต่ปีที่กล่าวนี้เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะว่าพอพระมหาธรรมราชาสวรรคตแล้ว
ธรรมชาติยังได้ลงโทษชาวไทยกรุงสุโขทัยอีกเล่า นั่นคือ ความกันดารน้ำ ความอัตคัดน้ำบริโภค เริ่มเกิดขึ้นอย่างรุนแรงสุดที่พระยาบาลเมือง พระยารามคำแหงโอรสพระมหาธรรมราชาธิราชจะแก้ไขได้
และเมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ได้สิ้นวาสนาลงแล้วพระบรมราชาธิราชจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระราเมศวรราชโอรส ซึ่งเป็นมหาอุปราชเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก ความร่วงโรยของกรุงสุโขทัยจึงได้ดับสนิท
เมื่อ พุทธศักราช ๑๙๘๑

          พระพุทธรูปทอง อาจประสบเหตุจลาจลไปกับกรุงสุโขทัยด้วย ตามเรื่องที่ได้เล่ามานี้ หรือมิเช่นนั้น เมื่อกรุงสุโขทัยร้างลงแล้วด้วยธรรมชาติลงโทษคือ "น้ำตระพังโพย" ที่เคย "สีใสกินดี"
เย็นสนิทดังน้ำแม่โขงเมื่อฤดูแล้งได้แห้งผาดลงนั้นคงไม่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่ในกรุงสุโขทัย (เก่า) เลยและโดยเหตุนี้กระมัง พระศรีศาสดาจึงถูกพระอธิการสงฆ์องค์หนึ่ง
อัญเชิญลงมาจากสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ วัดบางอ้อช้าง แขวงนนทบุรี จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติไปพบเข้า จึงได้อัญเชิญมาไว้ วัดประดู่โรงธรรม แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม และครั้งสุดท้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหารอยู่กับพระชินสีห์ เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๐๖

          พระพุทธรูปทอง อาจได้รับการอัญเชิญลงมาจากสุโขทัย ด้วยเหตุผลที่คล้ายกับพระศรีศาสดา ตามที่ได้กล่าวมา คือมีผู้อาราธนาลงมาจากสุโขทัยโดยเลื่อมใสศรัทธา นี่ประการหนึ่ง
หรืออีกประการหนึ่งอาจเป็นด้วยคราวกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าข้าศึกรุกราน เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๗-๘-๙ และคราวกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ แล้วพระพุทธรูปทองที่ประดิษฐานอยู่
ณ วิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย อาจได้รับการอัญเชิญจากกรุงสุโขทัยลงมาทางใต้ ในคราวนี้ก็อาจเป็นไปได้ เพราะการที่ข้าศึกเอาไฟสุมสำรอกทองพระศรีสรรเพชรสูง ๘ วา ที่กรุงศรีอยุธยาทลายลงมาทั้งองค์นั้นเป็นบทเรียนด้วยน้ำตาของชาวไทยผู้เป็นพุทธมามกะจะต้องหาทางป้องกันพระพุทธรูปทองทุกองค์ และด้วยเหตุนี้อีกประการหนึ่งที่พระพุทธรุปทอง
ได้ถูกเอาปูนมาปั้นพอกไว้ กลายเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นไปทั้งองค์ เพื่อให้ปลอดภัยจากการสำรอกเอา ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ของข้าศึกเช่นทำกับพระศรีสรรเพชรที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาคราวเผากรุง

๓. พระพุทธรูปทองมาประดิษฐาน ณ วัดโชตินาราม (วัดพระยาไกร)

          ในทางสันนิษฐาน ที่ได้กล่าวมาในข้อ ๒ ถ้าไม่มีเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ก็ดูจะยังมีอีกทางหนึ่งที่พระพุทธรูปทองได้รับการอัญเชิญจากบุคคลสำคัญคนใดคนหนึ่งลงมาจากสุโขทัย
คราวต้นรัชกาลที่ ๑ หรือในรัชกาลที่ ๓ เพราะสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม เสร็จแล้วได้พระราชทานนามใหม่เป็น
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๔ ครั้งนั้นมีพระราชโองการให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปอัญเชิญเอาพระพุทธรูปตามวัดร้างที่สุโขทัยและหัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงรัตน์โกสินทร์ เป็นจำนวนถึง ๑,๒๔๘ องค์ "พระระเบียงนั้นเชิญพระพุทธปฏิมากรอันหล่อด้วยทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า
วัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปดองค์" พระพุทธรูปทององค์นี้ อาจจะได้รับการอัญเชิญลงมาจากกรุงสุโขทัยในคราวนั้นด้วยและด้วยเจตนาที่จะได้พระพุทธรูปทองไว้บูชาเสียเองในวัดที่ตนได้สร้างขี้น
จึงปั้นปูนพอกปิดพระพุทธรูปทองนั้นเสีย จนแลดูไม่งดงาม แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดโชตินาราม (วัดพระยาไกร) นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าจะรับฟัง เพราะพระพุทธรูปที่ลักษณะงดงามสมบูรณ์ด้วยพุทธศิลปเช่นนี้ และหล่อด้วยทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขาเช่นนี้ พระมหากษัตริย์องค์ใดก็ตามถ้าทอดพระเนตรเห็นแล้วจะต้องอัญเชิญมาไว้ยังพระวิหารหลวงหรือพระอุโบสถทันทีคงจะไม่ปล่อยให้ไปตกอยู่ที่วัดเล็ก ๆ
เช่นวัดโชตินาราม ฉะนั้นการที่จะลองคาดคะเนว่าอัญเชิญมาโดยพระบรมราชโองการหรือโดยพระบรมราชานุญาตจึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคำนึงถึง
เพราะการอัญเชิญพระพุทธรูปทององค์นี้ลงมาความไม่ทรงทราบถึงพระเนตรพระกรรณเลย พระพุทธรูปทองจึงต้องตกอยู่ที่วัดพระยาไกร ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘

๔. เพราะเหตุใดจึงปั้นปูนพอกพระพุทธรูปทอง?

          การปั้นปูนพอกพระพุทธรูปองค์นี้ นอกจากจะได้สันนิษฐานมาในข้อ ๒ แล้ว ยังมีเหตุผลที่สมควรยกขึ้นมาพิจารณาอีกทางหนึ่ง เช่น ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ เมื่อกรุงศรีอยูธยาแตกด้วยน้ำมือข้าศึก
และถูกเผาผลาญเป็นจุณไปแล้ว ตามวัดวาอารามและพระวิหารหลวง ก็ถูกข้าศึกเผาวินาศเช่นเดียวกันไม่เว้นแม้แต่พระพุทธรูปเช่น พระศรีสรรเพชร สูง ๘ วา หุ้มทองคำหนัก ๒๕,๐๐๐ ชั่ง
ได้ถูกเผาสำรอกทองคำหนักจำนวนดังกล่าวไปจนหมดสิ้น จนองค์พระต้องทลายลงมา ด้วยเหตุนี้คงจะมีพุทธศาสนิกชนที่วิตกกลัวพระพุทธรุปทององค์นี้จะถูกเผาสำรอกเอาทองคำเช่นเดียวกับพระศรีสรรเพชร

จึงได้เอาปูนปั้นพอกเสียกลายเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นไปเมื่อพวกข้าศึกเห็นก็มิได้สนใจ เพราะว่าพระรูปปูนปั้นนั้นในกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัยมีอยู่ดาษดื่นจึงเป็นมหากุศลอย่างหนึ่งที่บันดาล
ให้พระพุทธรูปทององค์นี้รอดพ้นจากการทำลายของศัตรูมาได้อย่างมหัศจรรย์ แม้นว่าการสันนิษฐานนี้ถูกต้องถ้าจะนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐
สืบมาจนกระทั่งบัดนี้ ก็ได้ ๑๘๘ ปีพอดี(ในขณะที่พบพระทอง) การที่พระพุทธรูปถูกหุ้มด้วยปูนอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๘๘ ปี แล้วมาปรากฏขึ้นเช่นนี้ นับเป็นพุทธปาฏิหารย์อย่างเอกทีเดียว

               พระมหามณฑป

พระมหามณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ

 

๕. ใครเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้?

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธรูปทององค์นี้ พระมหากษัตริย์ทรงสร้างเพื่อประกอบบุญบารมีแห่งราไชสวรรยาธิปัตย์ และมีรูปร่างต้องตามแผนของการสร้างพระพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย จึงน่าจะเชื่อได้สนิทว่า
พระพุทธรูปทององค์นี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช คงจะได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำพระราชพิธีหล่อขึ้นเป็นการสร้างเสริมบารมี และด้วยมีพระราชศรัทธาอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้เพราะปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่าในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ปราศจากข้าศึกมาย่ำยี ทรงแผ่พระราชอาณาเขตสุโขทัยออกไปทั้ง ๔ ทิศ ทรงเรืองอานุภาพไม่มีกษัตริย์องค์ไดเปรียบได้ ตลอดจนรัชสมัยของพระองค์ก็ยืนยาวถึง ๔๐ ปี ดังนั้น เมื่อหมดศัตรูมาเบียดเบียนแล้ว พระองค์จึงได้หันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ทรงบำเพ็ญธรรมเพื่อ
เป็นบรมธรรมิกราชาธิราชและได้สร้างวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุขึ้นกลางกรุงสุโขทัย ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินไปรับพระพุทธสิหิงค์ที่นครศรีธรรมราช และทรงก่อสร้างศิลปวัตถุที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ

          การปรากฏขึ้นซึ่งพระพุทธรูปทององค์นี้ ยังความมหัศจรรย์แก่ประชาชนผู้ได้สดับและพบเห็นทั่วประเทศ นับเป็นอุดมมงคลอันยิ่งใหญ่ของชาวไทยเพราะพระพุทธรูปทององค์นี้เป็นสมบัติหาค่ามิได้
ของชาติไทยที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นไว้เพื่อการเคารพสักการบูชา แต่บังเอิญมีเหตุอันไม่มีใครคาดหมายเกิดขึ้น ทำให้ถูกปูนปั้นหุ้มไว้เป็นเวลานานไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี
ก็และบัดนี้ปราฏิหาริย์ได้บังเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธรูปทองของชาวไทยกรุงสุโขทัยผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวไทยในปัจจุบันได้ปรากฏให้เห็น ในทางวัตถุนับเป็นมหัคฆภัณฑ์ค่าควรเมือง
ในทางจิตใจนับเป็นพุทธานุสรณ์อันล้ำเลิศ ดังนั้นนับตั้งแต่กาลบัดนี้เป็นต้นไป ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะสถิตสถาพรชั่วกาลนาน ด้วยพระบรมพุทธานุภาพ หากอภิบาล
บันดาล และด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมเจ้า และอานุภาพพระสงฆ์เจ้า ประชาชนชาวไทยจะสมบูรณ์ด้วย อายุ วรรณะ สุข พละ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยด้วยพระไตรรัตนานุภาพทั้งแผ่นดิน

          ตามที่ข้าพเจ้าได้เสนอประวัติของพระพุทธรูปทองแก่ท่านผู้สนใจศรัทธามานี้ เป็นการค้นคว้าและสันนิษฐานโดยกุศลเจตนา ส่วนการสันนิษฐานพุทธศิลปตลอดจนพุทธลักษณะ
ว่าเป็นฝีมือนายช่างปฏิมากรรมสมัยสุโขทัย และเรื่อง อื่นๆ ด้วยนั้น ก็โดยได้อาศัยการศึกษาค้นคว้าแบบแผนพระพุทธรูปโบราณจากหลักฐานต่าง ๆ
ตามกำลังสติปัญญา ดังนั้น ถ้าการสันนิษฐานและการเสนอหลักฐานของข้าพเจ้าบกพร่องผิดพลาดไม่ตรงกับของท่านผู้ทรงวิทยาภูมิอื่น ๆ ก็พึงได้อภัยด้วย
เพราะการสันนิษฐานและการเสนอหลักฐานนั้น ทุกคนควรมีเสรีภาพในการกระทำได้อย่างอิสระหาใช่ว่าต้องอยู่ในขอบเขตโดยเฉพาะความคิดเห็นของท่านผู้ใดไม่
และถ้าการเสนอความเห็นและหลักฐานนี้เป็นการใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ที่เป็นไปได้แล้วในอดีตก็ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายทราบเถิดว่าเป็นด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธรูปทองดลบันดาลให้เขียน
และด้วยพระบรมราชานุภาพขององค์พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชดลบันดาล ข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาอันน้อย จึงได้เขียนประวัติจบลง โดยอานุภาพนั้นด้วยประการฉะนี้......

จบ

ข้อความทั้งหมดนี้นำมาจาก หนังสือประวัติวัดไตรมิตรวิทยาราม ที่ทางวัดได้จัดพิมพ์แจก

<<กลับหน้าแรก>>                                                                                                                               <<top>>

 

<<อ่านประวัติวัด>>

 

เข้าสู่หน้า กระดานบอร์ด     

 

Free Web Hosting